| |
เรื่องราวความเป็นมาของ “ปลานิล” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (tilapia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica Linn. จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า "ปลานิล" มีความหมายว่า มีสีดำ คือสีนิล และออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อชนิด คือคำว่า "nil" มาจาก "nilotica" ซึ่งชื่อพระราชทานนี้เป็นชื่อที่สั้น มีความหมายชัดเจนและง่ายแก่การจดจำสำหรับประชาชนทั่วไป ทรงพระราชทานแนวทาง ในการอนุรักษ์พันธุ์ปลานิล จากการทดลองเลี้ยงด้วยพระองค์เอง
หลังจากทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายปลานิล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้นำปลานิลไปพักเลี้ยงไว้ในบ่อปลาสวนจิตรลดา และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5 เดือนเศษ ปลานิลได้ขยายพันธุ์มีลูกปลาเป็นจำนวนมาก ทรงเห็นว่าปลาอาศัยอยู่กันอย่างแออัดมาก จึงโปรดให้ขุดบ่อเพิ่มอีกจำนวน 6 บ่อ และทรงย้ายปลาจากบ่อเดิมมายังบ่อใหม่ด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นประมาณปีเศษ ปลานิลได้ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากพอสมควรแล้ว ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 จึงได้พระราชทานลูกปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัวให้แก่อธิบดีกรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลอง และเพาะเลี้ยง ในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน และสถานีประมงต่าง ๆ อีกจำนวน 15 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร
จากนั้นกรมประมงได้ทำการเพาะเลี้ยงปลานิลพระราชทานและปล่อยในแหล่งน้ำทั่วประเทศ จนทำให้ปลาชนิดนี้แพร่หลาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาพันธุ์แท้ไว้ในสวนจิตรลดา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าปลาที่พระราชทานให้นำไปแพร่พันธุ์ไม่กลายพันธุ์ไป ต่อมาพระองค์ทรงมีรับสั่งถามนักวิชาการเสมอ ด้วยทรงรู้สึกว่าปลานิลเดี๋ยวนี้มีขนาดเล็กลงเข้าใจว่าจะกลายพันธุ์ ทรงให้เร่งรัดเรื่องการศึกษาวิจัยทางพันธุกรรม ทรงรับสั่งว่าถ้าหาปลานิลพันธุ์แท้ไม่ได้ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดา ด้วยมีพระประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโตมีเนื้อมาก ซึ่งจากการศึกษาต่อมาพบว่าสายพันธุ์ปลานิลพระราชทาน เรียกทั่วไปว่า "สายพันธุ์จิตรลดา" เป็นสายพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีการปะปนของสายพันธุ์ปลาหมอเทศ ซึ่งทำให้ปลามีขนาดเล็กลง ทรงพระราชทานลูกพันธุ์ปลานิลแก่เกษตรกรและพสกนิกรชาวไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น